หมวดหมู่: ธปท.

BOA


ครึ่งปีแรก 61 ยอดร้องเรียนการเงินพุ่ง 701 ราย ปัญหาบัตรเครดิตมากสุด

    ธปท.เผย ครึ่งปีแรกประชาชนแห่ร้องเรียนบริการด้านการเงิน 701 รายการชี้เรื่องเงินสินเชื่อ ทั้งด้านบริการ-ดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม แต่พบโทรขายประกันลดลงหลังออกมาตรการมาร์เก็ตคอนดักส์ดูแล

      รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) รายงานผลร้องเรียนของประชาชนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ประชาชนร้องเรียนด้านบริการทางการเงิน 701 รายการ เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีหลัง 2560 ที่ 130 รายการ หรือเพิ่มขึ้น 22.8% โดยเรื่องร้องเรียนด้านเงินให้สินเชื่อ ยังคงมีจำนวนสูงสุด ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้า หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และเรื่องค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยที่คำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

        ด้านการร้องเรียนด้านสินเชื่อพบว่ามี 449 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องปฏิเสธรายการเรียกเก็บค่าสินค้าหรือบริการของร้านค้า ซึ่งลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับบริการไม่เป็นไปตามที่ตกลง การไม่ได้รับสิทธิตามโปรโมชั่น และยังมีเรื่องการแจ้งยกเลิกบัตรเครดิตแล้ว แต่สถาบันการเงินไม่ดำเนินการและยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง เงินต้น ยอดหนี้ ไม่ถูกต้อง ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย ที่ลูกค้าเห็นว่าคำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ดอกเบี้ยหรือค่าปรับล่าช้า เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

       นอกจากนี้ ยังพบ เรื่องร้องเรียนด้านอื่นๆ เช่น การฝากเงิน แต่ยอดเข้าไม่ครบ การโอนเงินแต่ไม่เข้าบัญชีปลายทาง รวมถึงการถอนเงินแต่ไม่ได้รับหรือได้รับไม่ครบ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาจากการทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอีแบงกิ้ง รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินทุจริต และมีผู้ร้องเรียนหลายรายถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หลอกถามข้อมูลส่วนตัวและนำไปสมัครใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

      อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบเรื่องร้องเรียนด้านโทรขายผลิตภัณฑ์ ลดลงจากปีที่ผ่านมา หลังจากธปท.ได้ออกมาตรการกำกับดูแลด้านการบริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ต คอนดักส์) โดยเรื่องร้องเรียนหลัก คือ การบังคับซื้อประกัน หรือผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับการขอสินเชื่อ รองลงมาคือ การบังคับซื้อประกันหรือผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับเงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายผลิตภัณฑ์โดยให้ข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น ชักชวนให้ทำประกันโดยเข้าใจว่าเป็นเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนสูง การบังคับขายบัตรเดบิตพ่วงประกัน และการบังคับซื้อประกัน ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น การบังคับให้ทำประกันในการเช่าตู้นิรภัย เป็นต้น

         นอกจากนี้ ในปี 2562 ธปท.จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลมาร์เก็ต คอนดักส์ ให้ครอบคลุมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) บริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (นาโน ไฟแนนซ์) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านนี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!