หมวดหมู่: กรมสรรพากร

RDปนสาย สรสวด


สิทธิลดหย่อนภาษีช็อปช่วยชาติซื้อสินค้า OTOP-หนังสือ-ยาง สรรพากร แจงใช้ต้องมีหลักฐานใบเสร็จ-ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

    นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยถึงหลักฐานที่ใช้ในการหักลดหย่อนสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมเกษตร ชุมชน และทุนมนุษย์ สำหรับการซื้อสินค้า OTOP, หนังสือ และยางล้อรถว่า บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าซื้อสินค้าดังกล่าวที่ได้มีการซื้อระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2562 ไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และในกรณีผู้มีเงินได้จ่ายค่าซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าว 2 ปีภาษี จะได้รับการลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกัน 2 ปีภาษีแล้ว ต้องไม่เกิน 15,000 บาท

       โดยสินค้าที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีทั้ง 3 ประเภท มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

               1. สำหรับสินค้า OTOP ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน จะต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงิน (กรณีที่ผู้ขายสินค้าดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (กรณีที่ผู้ขายสินค้าดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

               2. สำหรับหนังสือรวมถึง e-Book แต่ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ จะต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป แล้วแต่กรณี

               3. สำหรับยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถจักรยานที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เสียภาษีจะต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และคูปองที่มีตราประทับของร้านค้าโดยคูปอง 1 ใบ ต่อยาง 1 เส้น

               โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีนี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ผ่านการอ่านหนังสือ ตลอดจนช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแนวทางการปฏิรูปประเทศ

               อินโฟเควสท์

กรมสรรพากร ชี้แจงการออกมาตรการช็อปช่วยชาติ

       ตามที่ปรากฏคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่า เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนและควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่า นั้น

กรมสรรพากรขอเรียน ดังนี้

               1. มาตรการช็อปช่วยชาติหรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

               2. นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภทยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภทซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

               2.1 สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานได้กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น

               2.2 สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน

               2.3 สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง

               หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161 และหากพบเห็นการกระทำใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่างๆ ที่ www.rd.go.th > เมนู "การแจ้งแหล่งภาษี" เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

สรรพากร โต้ข้อกล่าวหามาตรการช็อปช่วยชาติหนุนนายทุน แจงเป็นการกระตุ้นบริโภคในประเทศ ช่วยเหลือศก.ชุมชน

      รายงานข่าวจากกรมสรรพากร ชี้แจงกรณีมีคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่า เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนและควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่านั้นว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ มาตรการช็อปช่วยชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

     นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภทยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภทซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

    สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานได้กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น

     สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน

     สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง

     นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการช็อปช่วยชาติ ที่จะดำเนินการระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561 – 15 ม.ค. 2562 จะไม่เหมือนกับมาตรการในปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะมีการกำหนดชนิดสินค้าที่เข้าร่วมได้ 3 รายการ โดยแต่ละชนิดสินค้าที่กำหนดนั้น มีหลักการและเหตุผลแตกต่างกันออกไป แต่อยู่บนพื้นฐานการช่วยเหลือผู้ผลิตที่เป็นคนไทย

      กรณียางรถยนต์ ซึ่งรวมถึงยางรถจักรยานยนต์ และยางรถจักรยานด้วยนั้น วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราคายางที่ตกต่ำจากปัญหาสต็อกยางพารา ที่ต้องเร่งระบายออกกว่า 6 พันตัน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยางในประเทศทั้งสิ้น 28 บริษัท โดยกรมสรรพากรได้มีการคำนวณว่า ยางพารา 1 ตัน สามารถผลิตยางรถยนต์ได้ 80 เส้น

     สำหรับ การใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อยางล้อนั้น จะต้องมีใบกำกับภาษีจากผู้ขาย และคูปองที่ติดมากับยางล้อ โดยกรมสรรพากรได้เตรียมคูปองในส่วนนี้ไว้ 2 แสนใบ เพื่อเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ หรือปลอมแปลงต่าง ๆ โดยในคูปองดังกล่าวจะต้องมีเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้ขายยางกำกับด้วย และยางล้อจะต้องมีตราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำกับด้วย โดยยาง 1 เส้นต่อคูปอง 1 ใบ

     ส่วนการใช้สิทธิจากการซื้อหนังสือ หรือ e-Book โดยไม่รวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านของคนในประเทศ จะต้องมีใบเสร็จจากร้านค้า ส่วนสินค้าโอท็อป เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน โดยผู้ผลิตจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน โดยผู้ใช้สิทธิสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

      อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่ามาตรการช็อปช่วยชาติ สำหรับสินค้า 3 ประเภทจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ ประมาณ 1.6 พันล้านบาท จากมาตรการในปีก่อนที่สูญเสียรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท จากผู้ยื่นแบบเพื่อขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย

       นายปิ่นสาย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ ต้องแจ้งความประสงค์เพื่อใช้สิทธิดังกล่าวกับบริษัทประกันในการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2561 ว่า ไม่เป็นความจริง โดยกรมสรรพากรได้กำหนดให้บริษัทประกันสามารถยื่นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้าที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพได้ถึงวันที่ 7 ม.ค. 2562 โดยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว กรมสรรพากรจะนำไปใช้ในการคำนวณภาษี เพื่อให้สามารถประมวลผลได้เร็วขึ้น

               อินโฟเควสท์

รมว.คลัง เล็งออก`ช้อปตรุษจีน` คืน VAT สูงสุด 1,000 บ.หวังกระตุ้นศก.

      รมว.คลัง แย้มเล็งออกมาตรการ'ช้อปตรุษจีน' คืน VAT ประชาชนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตให้ 5% สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ช่วง 1-15 ก.พ. พร้อมหารือแบงก์ลดค่าธรรมเนียมการทำบัตรเดบิตช่วยกระตุ้นอีกแรง ยันไม่ใช่มาตรการหาเสียง แต่ต้องการกระตุ้นศก.ปี 62 ให้โตเกิน 4%

      นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างศึกษามาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2562 และสนับสนุนการใช้อีเพย์เมนท์ สำหรับเบื้องต้น คาดว่าจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ 5% และกำหนดวงเงินการใช้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน หรือ คิดเป็นวงเงินการคืนภาษีสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาใช้จ่าย 15 วัน หรือช่วง 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 สำหรับงบประมาณในการใช้ในโครงการนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท

       นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอลดค่าธรรมเนียมการทำบัตรเดบิต รวมถึงเปิดให้ประชาชนที่ถือบัตรเอทีเอ็ม และต้องการเปลี่ยนให้เป็นบัตรเดบิตได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมองว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินได้ประโยชน์ด้วย

      “สำหรับมาตรการนี้เราคิดเพื่อให้เป็นของขวัญช่วงงตรุษจีนสำหรับประชาชนทั่วไป แต่คนที่จะได้สิทธิการคืนภาษีนั้นจะต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเท่านั้น และคืนเงินเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ตามหมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งจะคืนให้หลังจากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 15 วัน โดยยืนยันว่า มาตรการนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา และยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อไหร่ ซึ่งจะต้องหารือกับหลายหน่วยงาน และยืนยันว่า มาตรการนี้คิดมานานแล้ว และไม่ได้เป็นมาตรการหาเสียงอย่างแน่นอน”นายอภิศักดิ์ กล่าว

    นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการพยุงเศรษฐกิจให้ปี 2562 เติบโตได้เกินกว่า 4% ส่วนมาตรการอื่นๆจะมีเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น จะต้องดูภาวะเศรษฐกิจในอนาคต แต่ในปัจจุบันนั้น กระทรวงการคลังยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะเติบโตได้เกินกว่า 4%

    “พื้นฐานที่เราทำกับเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เราทำมาเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพแล้วคือ 4-5% และหวังว่าจะไม่มีอะไรมาทำให้มันตก เหตุผลคือ เมื่อมันตกลงไป การที่จะดึงขึ้นมามันต้องใช้ปัจจัยค่อนข้างมากกว่าการที่จะพยุง เพราะฉะนั้นปล่อยให้มันตกไม่ได้ แต่ต้องพยุงให้มันดีกว่า ดังนั้นหากมีอะไรที่จำเป็นการจะปั้มเศรษฐกิจก็ได้หากเศรษฐกิจมันไม่ถึง 4%”นายอภิศักดิ์ กล่าว

     ด้านหลักการของโครงการนี้ จะทำในรูปแบบเดียวกับผู้มีรายได้น้อย คือ ประชาชนจะต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต กับร้านค้าที่ติดตั้งเครื่อง EDC หรือ POS ที่โปรแกรมดังกล่าวนั้นจะสามารถแยกราคาสินค้า และ VAT ให้กับกรมสรรพากรได้ในทันที และกรมสรรพากรจะสามารถติดตามได้ว่าจะต้องคืน VAT ให้เท่าไหร่บ้าง โดยการคืนภาษีนั้นในเบื้องต้นจะคืน 5% และส่วนที่เหลืออีก 2% เป็นของหลวง สำหรับการซื้อสินค้านั้น จะสามารถซื้อสินค้าได้ทุกชนิด ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรการช้อปช่วยชาติปลายปีนี้ที่จะซื้อสินค้าได้เพียง 3 ชนิดเท่านั้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

คลัง เคาะมาตรการช็อปตรุษจีน 1-15 ก.พ.62 ไม่เกิน 2 หมื่นบ.คืน VAT 5% เข้าบัญชีพร้อมเพย์

      นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในลักษณะคล้ายมาตรการช็อปช่วยชาติ โดยใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 1-15 ก.พ.62 ซึ่งมีแนวคิดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 5% ให้กับประชาชนทั่วไปที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตชำระค่าสินค้าผ่านเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท หรือคิดเป็นเม็ดเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่คืนให้คนละไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งจะคืนให้กับผู้ที่ผูกบัญชี พรอมเพย์กับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น

     "ในเบื้องต้นจะคืน VAT 5% และส่วนที่เหลืออีก 2% เป็นรายได้รัฐสำหรับการซื้อสินค้านั้น จะสามารถซื้อสินค้าได้ทุกชนิด ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรการช็อปช่วยชาติปลายปี 62 ที่จะซื้อสินค้าได้เพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ ยางรถยนต์ หนังสือ และสินค้าโอทอป" รมว.คลัง กล่าว

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณในโครงการนี้ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดโครงการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ยืนยันว่ามาตรการนี้ไม่ได้เป็นการหาเสียง แต่เป็นมาตรการที่คิดไว้นานแล้วเพื่อต้องการกระตุ้นนโยบาย e-payment ของรัฐบาล และกระตุ้นให้ร้านค้ามีการติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อเข้าระบบฐานภาษี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว

     นอกจากนี้ กรทะรวงการคลังยังเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อขอลดค่าธรรมเนียมการทำบัตรเดบิต รวมถึงเปิดให้ประชาชนที่ถือบัตรเอทีเอ็มเปลี่ยนให้เป็นบัตรเดบิตได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินได้ประโยชน์ด้วย

      รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ รวมทั้งเตรียมทยอยออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงเดือนธ.ค.61 เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ และมาตรการช็อปช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เตรียมจะออกมาในเดือนก.พ.62 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลต้องการพยุงเศรษฐกิจไทยให้รักษาระดับ 4-5% ไว้ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เติบโตเต็มศักยภาพ โดย รมว.คลัง ประเมินว่าปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เกินกว่าระดับ 4% เล็กน้อย แม้จะไม่ฟู่ฟ่ามาก แต่ถือว่าเข้าสู่ระดับเส้นของความยั่งยืน

      "ที่เราทำมาทั้งหมด มันเริ่มทำให้เข้าสู่การเติบโตแบบมีศักยภาพแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีอะไรมาทำให้มันตกลงไปอีก ถ้ามันตกลงไป เราก็ต้องเติมให้มันกลับเข้ามาเหมือนเดิม เมื่อเศรษฐกิจตกลงไปแล้ว การที่จะดึงกลับขึ้นมาค่อนข้างใช้ resource หลายอย่าง ดังนั้นจะปล่อยให้ตกไม่ได้ เราต้องรีบลงไปพยุงมัน ดีกว่าปล่อยให้มันตก" รมว.คลังระบุ

        รมว.คลัง ระบุว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่าการบริโภคในประเทศเติบโตในระดับต่ำเพียงแค่ 1% แต่หลังจากมีมาตรการดังกล่าวออกมาแล้ว การบริโภคในประเทศปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 4% ได้ ดังนั้นมาตรการช็อปช่วยชาติที่จะออกมาใหม่ในปีนี้ จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคเป็นการทั่วไปแบบที่ผ่านมา แต่เป็นการทำเพื่อช่วยเหลือสินค้าบางรายการในประเทศที่ยังมีปัญหา รวมทั้งยังเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้คงไว้ในระดับการเติบโตแบบเต็มศักยภาพได้ต่อเนื่องต่อไป

    "ปีนี้ เราเห็นการบริโภคเติบโตค่อนข้างดีในระดับกว่า 4% จากเดิมที่โตแค่ 1% ดังนั้น การทำเป็นการทั่วไปไม่จำเป็นแล้ว ไม่ต้องกระตุ้นการบริโภคแล้ว แต่เรายังมีบางสินค้าที่คิดว่าอยากจะช่วยให้เกิดการบริโภคสินค้าบางประเภท เพื่อประโยชน์บางอย่าง...เป็นตัว stabilize ไม่ให้จีดีพีมันลงต่ำ เรามองว่ายังน่าจะได้ 4% ต้นๆ...ทั้งหมดที่ทำเป็นซีรีย์ที่เราเตรียมไว้ ถ้าไม่ทำจะเสียเปล่า" รมว.คลัง ระบุ

     นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น เป็นโจทย์ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมา โดยให้คิดแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งแนวทางการคืนเงิน เป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาครั้งนี้ด้วย และเดิมกรอบเวลาที่จะใช้ในการดำเนินการจะอยู่ในช่วงปลายปี 2561 แต่ด้วยกระบวนการ และระบบหลายอย่างต้องใช้เวลา จึงมีการขยับเวลาของมาตรการออกไปเป็นช่วงเดือน ก.พ. 2562

      "เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีมีสัญญาณหัวทิ่มลง ดังนั้นจึงมีโจทย์ให้ สศค.ไปคิดเกี่ยวกับแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นผ่านการคืนเงินเป็นแนวทางที่มีการศึกษาไว้ ซึ่งจะใช้หลักการ คือ ใช้เท่าไหร่ จ่ายคืนในปริมาณที่เท่าเทียมกัน โดยแนวทางการคืนก็จะเป็นแบบเดียวกับการคืนภาษี VAT ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" นายปิ่นสาย กล่าว

                              อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!