หมวดหมู่: ธปท.

BOAวรไท สนตประภพ


ผู้ว่าธปท.พร้อมใช้นโยบายการเงินดันศก.ปีนี้โต 4% ยันไม่กังวลเงินเฟ้อต่ำ

     ผู้ว่าธปท. คาดจีดีพีไทยขยายตัวได้ 4% พร้อมใช้นโยบายการเงิน - ดอกเบี้ย และเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตตามเป้า ชี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศเพียบ ไม่ห่วงเงินเฟ้อมองต่ำกว่าเป้าหมาย

      นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการประชุมนักวิเคราะห์ เพื่อสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินรายไตรมาสว่า ในปีนี้ ธปท.ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 4% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะต่างประเทศ ทั้งผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ-จีนที่อาจมากกว่าที่คาด การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอาจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากกรณีสหราชอาณาจักรอาจออกสภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง หรือ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังขยายตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร ด้านการใช้จ่ายภาครัฐอาจต่ำกว่าที่คาด จากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐ

      อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังมองว่า จีดีพีของไทยยังขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยธปท.พร้อมที่จะใช้เครื่องมือต่างๆที่มี เพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

     “เราเป็นประเทศเปิดขนาดเล็ก และในระยะข้างหน้าต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกชะลอลงจริง และยังมีปัจจัยเสี่ยงมาจากหลายรูปแบบ แต่เรายังมองว่า จีดีพียังขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มมากขึ้น โดยเรามีเครื่องมือต่างๆที่พร้อมใช้ในการดูแลระบบเศรษฐกิจได้ หากเหตุการณ์ที่เข้ามาไม่ทำให้การประมาณการเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้”นายวิรไท กล่าว

     นายวิรไท กล่าวถึง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายว่า ในปัจจุบันหากดูพัฒนาการจะพบว่า เงินเฟ้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า ระยะเวลาที่เงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายนั้นยาวขึ้น เนื่องจาก การพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าทุกประเภทไม่เฉพาะสินค้าไอทีที่ถูกลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงราคาพลังงาน เช่น เชลล์แก๊สด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเกิดจากโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยี การเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

     “เงินเฟ้อ ต้องบอกว่า เป็นผลจากราคาพลังงานเป็นส่วนใหญ่ และเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมและมีผันผวนสูง ดังนั้น เมื่อพิจารณา จะพบว่า ความกังวล ที่เงินเฟ้อต่ำกรอบล่างไม่ได้กังวลมาก กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหากธนาคารกลางจะพิจารณาจะดูที่เงินเฟ้อจะถึงเพดานข้างบน หรือสูงมากกว่า เพราะหากเงินเฟ้อสูงมาก จะกระทบต่อสังคม ศักยภาพ และเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบล่างไปบ้าง และเป็นปัจจัยจากซัพพลาย เราจะต้องให้ความสำคัญการสื่อสารกับประชาชนรับทราบ”นายวิรไท กล่าว

     ด้านแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป มองว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจไม่เป็นไปเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยจะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

     “เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าดอกเบี้ย หรือส่วนต่างดอกเบี้ยควรมีที่เท่าไหร่ เพราะการทำนโยบายเศรษฐกิจต้องประสานนโยบายทั้งการคลัง และการเงิน และบริบทที่จำเป็นต้องใช้นโยบายแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นโยบายการเงิน หากเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นไปตามคาดและชะลอลงรุนแรง การค่อยๆปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ส่งผลเท่าไหร่ เพราะหากทำต้องแรง ซึ่งย้อนไปเมื่อปี 2552 ในขณะนั้นเศรษฐกิจมีปัญหาเราปรับลดเยอะมาก ตอนปี 2558 ตอนนั้นมีวิกฤติทางการเมืองในประเทศธุรกิจชะงัก ส่งออกกระทบ นโยบายการคลังจึงไม่มีพื้นที่ รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ นโยบายตอนนั้นเราลดดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันจาก 2% เหลือ 1.5% ดังนั้นในเวลานี้ถึงจุดที่มีโอกาสเราจะสะสมโพริซีสเปรดเอาไว้ เพื่อยามจำเป็น”นายวิรไท กล่าว  

     ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ ตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับตัวดีและกระจายตัวมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากโครงการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ สำหรับการส่งออกสินค้าชะลอลงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.8% จากปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7% สำหรับการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง แต่ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

      สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 1% โดยอาจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากความเสี่ยงเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สำหกรับเสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับดีขึ้นจนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากประชาชนก่อหนี้มากขึ้น เพื่อการบริโภคและไม่จูงใจให้เกิดการออม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!